ประวัติ Harley Davidson

ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน (Harley Davidson) เป็นชื่อของผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ชื่อดังที่หลายคนคุ้นเคยดี ด้วยรูปลักษณ์ของตัวรถอันโดดเด่น สมรรถนะแรงได้ใจ และเสียงของเครื่องยนต์อันเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ได้รับความนิยมอย่างยาวนานนับร้อยปี แน่นอนว่าหนทางการประสบความสำเร็จของฮาร์เล่ย์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พวกเขาเกือบล้มละลายอยู่หลายครั้ง แต่ก็สามารถกลับมาและได้รับความนิยมอยู่จนปัจจุบัน อะไรทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและสิ่งไหนที่ทำให้พวกเขาล้มเหลว วันนี้ กระปุกดอทคอมก็ขอนำเสนอประวัติของฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ระดับไอคอนของโลกให้ได้ทราบกันครับ

ฮาเล่ย์เดวิดสัน

เริ่มต้นใน พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) เมื่อวิลเลียม ฮาร์เล่ย์ (William Harley) และสองพี่น้อง อาร์เธอร์ กับ วอลเตอร์ เดวิดสัน (Arthur Davidson และWalter Davidson) ได้ประดิษฐ์มอเตอร์ไซค์คันแรกของพวกเขาด้วยการนำเครื่องยนต์ 1 สูบมาติดตั้งกับจักรยานเพื่อไว้ใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยได้เริ่มทำธุรกิจผลิตจักรยานติดเครื่องยนต์จำหน่ายภายในกระท่อมหลังบ้านพวกเขา ที่เมืองมิลวอกี้ รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐฯ ต่อมา จักรยานติดเครื่องยนต์ของทั้งสามได้รับความนิยมมากขึ้น พวกเขาจึงได้ตั้งโรงงานประกอบขึ้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) และใน พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) พวกเขาเริ่มใช้เครื่องหมายการค้าตราโล่ ซึ่งยังคงใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

ฮาเล่ย์เดวิดสัน

จุดเปลี่ยนของพวกเขาเกิดขึ้นเมื่อ วิลเลียม ฮาร์เล่ย์ ประดิษฐ์เครื่องยนต์ V-Twin ได้สำเร็จใน พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) โดยเครื่องยนต์ V-Twin รุ่นแรกมีขนาดกระบอกสูบ 880 ซีซี กำลัง 7 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. และได้ทำการปรับปรุงเรื่อยมา โดยใน พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1913) ฮาร์เล่ย์ก็ได้หันมาใช้เครื่องยนต์ V-Twin ในมอเตอร์ไซค์ของพวกเขาเป็นครั้งแรก และยังคงถูกดัดแปลงใช้งานอยู่จนปัจจุบัน

เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันได้ผลิตมอเตอร์ไซค์ให้กองทัพอเมริกาใช้งาน โดยถือเป็นมอเตอร์ไซค์รุ่นแรกที่ถูกใช้งานในการสงคราม ซึ่งในช่วงนั้นมีฮาร์เลย เดวิดสันประจำการในกองทัพกว่า 15,000 คันเลยทีเดียว

ฮาเล่ย์เดวิดสัน

ในทศวรรต 1920 หรือ พ.ศ. 2463 – 2472 ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างมาก โดยกลายเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่งออกมากกว่า 67 ประเทศ พวกเขาจึงพัฒนาการออกแบบถังน้ำมันทรงหยดน้ำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จนปัจจุบัน รวมทั้งเริ่มติดตั้งเบรกล้อหน้าเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังประสบความสำเร็จด้านมอเตอร์สปอร์ตด้วยการทำลายสถิติความเร็วสูงกว่า 160 กม./ชม. ด้วย

ฮาเล่ย์เดวิดสันฮาเล่ย์เดวิดสัน

ช่วงทศวรรษ 1930 หรือ พ.ศ. 2473 – 2482 เป็นช่วงของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งฮาร์เล่ย์ เดวิดสันเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยมียอดขายหายไปถึงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี โดยในช่วงนี้ ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันได้ปรับปรุงการออกแบบด้วยการนำรูปนกเหยี่ยว ในสไตล์อาร์ต เดโค (Art Deco) เข้ามาใส่ในมอเตอร์ไซค์ อีกทั้งยังเปิดตัวเครื่องยนต์แบบ Knucklehead เป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาทั้งรูปเหยี่ยวและเครื่องยนต์แบบดังกล่าวก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของฮาร์เล่ย์ เดวิดสันจนทุกวันนี้

ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันเป็นหนึ่งในสองผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ที่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯ จึงได้ให้ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันผลิตมอเตอร์ไซค์สำหรับใช้งานในกองทัพอีกครั้ง โดยครั้งนี้ พวกเขาผลิตออกมา 2 รุ่น ได้แก่รุ่น XA ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซค์ที่เลียนแบบเทคโนโลยีจากบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) และถูกผลิตมีเพียง 1,000 คัน เท่านั้น อีกรุ่นหนึ่งคือ รุ่น WLA ที่ถูกผลิตออกมามากกว่า 60,000 คัน แถมหลังจากจบสงคราม ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันยังคงผลิตรถรุ่นนี้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้งานอีกด้วย

ช่วงทศวรรษที่ 1950 หรือ พ.ศ. 2493-2502 ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันนำเทคโนโลยีกันสะเทือนแบบไฮโดรลิกมาใช้กับมอเตอร์ไซค์ของตนเอง และได้นำเสนอฮาร์เล่ย์รุ่น K ซึ่งพัฒนากลายเป็นรุ่นสปอร์ตสเตอร์ (Harley Davidson Sportster) มอเตอร์ไซค์รุ่นยอดนิยมของค่าย

ฮาเล่ย์เดวิดสัน

ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน เคยถูกซื้อกิจการโดย AMF (American Machine and Foundry) ใน พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ซึ่ง AMF ทำการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดการนัดหยุดงานของพนักงานและคุณภาพของมอเตอร์ไซค์ที่ตกต่ำ ประกอบกับที่มอเตอร์ไซค์ของญี่ปุ่นกำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จนทำให้ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันเกือบล้มละลาย แต่ในที่สุด อดีตผู้บริหารและทายาทของผู้ก่อตั้งฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน ก็ได้รวมตัวกันซื้อบริษัทฮาร์เล่ย์ เดวิดสันคืนจาก AMF และช่วยกันกอบกู้บริษัทจนกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่จนปัจจุบัน โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพ รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของฮาร์เล่ย์ เดวิดสันไว้ทั้งรูปทรง กำลังเครื่อง และเสียงได้อย่างครบถ้วน

ฮาเล่ย์เดวิดสัน

ไม่เพียงแต่มอเตอร์ไซค์ทรงคลาสสิกเท่านั้น ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันยังเคยมีมอเตอร์ไซค์ทรงสปอร์ตด้วย โดยเข้าซื้อกิจการของค่ายมอเตอร์ไซค์สปอร์ตที่ชื่อว่า บูเอล (Buell) ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีพอสมควรด้วยเครื่องยนต์กำลังแรงแบบฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน ผสานกับดีไซน์สปอร์ตทันสมัย แต่สุดท้ายฮาร์เล่ย์ เดวิดสันก็ได้ขายกิจการคืนให้กับ อีริค บูเอล ผู้ก่อตั้งของบูเอล เมื่อ พ.ศ.2552 (ค.ศ. 2009)

ล่าสุด ฮาร์เล่ย์ เดวิดสันได้ประกาศจะเปิดโชว์รูมพร้อมกับโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นเรื่องดีที่คนไทยจะมีโอกาสเป็นเจ้าของมันได้ง่ายขึ้น แถมยังได้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วยครับ

ใส่ความเห็น